top of page
บทความ > 'นักจิตวิทยา' กับ 'จิตแพทย์' เนื้องานที่ต่างกัน แต่ทำงานร่วมกัน

ภาพโดย : Andrew Martin จาก Pixabay

เขียนโดย : ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์
June 24, 2019

'นักจิตวิทยา' กับ 'จิตแพทย์'

เนื้องานที่ต่างกัน แต่ทำงานร่วมกัน

Highlights

  • แม้ว่านักจิตวิทยาการปรึกษาและจิตแพทย์จะทำงานเรื่องสุขภาพจิตทั้งคู่  แต่เนื้องานและวิธีการทำงานอาจไม่เหมือนกัน

  • นักจิตวิทยาการปรึกษา ศึกษาและฝึกฝนมาทางศาสตร์จิตวิทยาการปรึกษา ในการปฏิบัติงานนักจิตวิทยาการปรึกษาจะทำงานกับปัจจัยทางด้านจิตใจผ่านการพูดคุยเป็นหลัก โดยไม่มีการใช้ยา

  • จิตแพทย์ ศึกษาและฝึกฝนมาทางด้านการแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ ในการปฏิบัติงานจิตแพทย์จะพยายามประเมินว่าอาการทางจิตใจที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบในร่างกายหรือไม่ หากใช่ก็อาจจัดการรักษาด้วยการใช้ยา

  • นักจิตวิทยาการปรึกษาและจิตแพทย์สามารถทำงานร่วมกันได้ตามขอบเขตความชำนาญของตน เพื่อส่งเสริมให้ผู้รับบริการได้ฟื้นฟูและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง

ในการทำงานผมมักจะถูกเรียกว่า 'คุณหมอ' หรือ 'จิตแพทย์' อยู่บ่อยครั้ง อาจเพราะสำหรับในประเทศไทยแล้วอาชีพที่เป็นที่รู้จัก และมีบทบาทในการรักษาก็คือ 'หมอ' แล้วถ้าเป็นหมอที่ทำงานเรื่องจิตใจก็คือ 'จิตแพทย์'

ทุกครั้งที่เกิดการเรียกผิด ผมก็จะแสดงตัวว่าผมเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาและค่อยๆ อธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าสองอาชีพนี้แตกต่างกันอย่างไร พอฟังจบหลายคนก็จะถามว่าถ้าไม่เรียกหมอแล้วจะให้เรียกอย่างไรดี ผมจึงเสนอว่าเรียก 'คุณนักจิต' หรือเรียกชื่อผม 'คุณเอิ้น' ไปเลยก็ได้

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรจริงจัง เพราะแม้นักจิตวิทยาการปรึกษากับจิตแพทย์จะทำงานเรื่องสุขภาพจิตทั้งคู่ บางขอบเขตงานทับซ้อนกันบ้าง แต่เนื้องานและวิธีการทำงานนั้นอาจไม่เหมือนกันและเหมาะกับโจทย์คนละแบบ

นักจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychologist หรือ Counselor) คือคนที่เล่าเรียนมาทางด้านจิตวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจ ประสบการณ์ชีวิต และการเลี้ยงดู ที่ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และการดำเนินชีวิตของคนแต่ละคน คนเราจะสุขหรือทุกข์ ชีวิตจะสำเร็จหรือล้มเหลว ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาจะมองว่าทั้งหมดนั้นล้วนมีเรื่องของจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

ด้วยการศึกษาศาสตร์ด้าน 'จิตวิทยาการปรึกษา' (Counseling Psychology) จุดที่นักจิตวิทยาการปรึกษาจะให้ความสนใจในทำงานกับผู้มาปรึกษาจึงเป็นการค้นหาและทำความเข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาโดยเฉพาะที่มาจากมิติของจิตใจ อย่างเช่น การมีชุดความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล การมีมุมมองเกี่ยวกับชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ประสบการณ์เจ็บปวดในอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน การยึดมั่นในหลักการบางอย่างที่ไม่เหมาะสม การยึดติดไม่ยอมรับความจริง การไม่สามารถปรับตัว หรือความสับสนลังเลไม่สามารถตัดสินใจได้ เป็นต้น เมื่อพบแล้วก็จะมีกระบวนการพูดคุยเพื่อเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนมุมมอง ปรับความคิด ปรับจิตใจ ปรับวิถีการใช้ชีวิตให้ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้สภาวะปัญหาเหล่านั้นคลี่คลายลงจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตด้วยความสุขด้วยสุขภาวะได้อีกครั้ง โดยที่กระบวนการปรึกษานั้นจะเกิดขึ้นผ่านการพูดคุยเป็นหลักโดยไม่มีการวินิจฉัย และไม่มีการใช้ยา

จิตแพทย์ (Psychiatrist) คือคนที่เล่าเรียนมาทางด้านการแพทย์ (เรียนหมอ) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการประกอบขึ้นของชิ้นส่วน อวัยวะ และระบบการทำงานของส่วนต่างๆ ในร่างกาย สมอง กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเลือด ระบบประสาท โดยเน้นเรื่องทางชีวภาพเป็นหลัก ซึ่งศาสตร์ทางการแพทย์จะมองว่า คนเราจะมีสุขภาพแข็งแรงดี หรือ มีภาวะของความเจ็บป่วยหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับว่าระบบการทำงานทางชีวภาพในร่างกายของเราทำงานอย่างถูกต้องเป็นปกติหรือไม่ ถ้าปกติ คนก็จะมีสุขภาพแข็งแรง หากไม่ปกติ ก็จะปรากฏเป็นอาการที่สะท้อนความเจ็บป่วยขึ้นมา โดยแนวทางการรักษาก็คือการมุ่งทำงานกับอวัยวะ ระบบทางชีวภาพ หรือตัวอาการที่ไม่ปกตินั้นโดยตรง ซึ่งอาจเป็นการใช้ยา หรือการผ่าตัด โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ระบบที่ไม่ปกตินั้นกลับมาปกติตามที่ควรจะเป็น เมื่ออาการที่สะท้อนความไม่ปกตินั้นหายไป ก็ถือว่ากลับมาปกติ มีสุขภาพที่ดีขึ้น

แนวคิดนี้เชื่อมโยงมาสู่ศาสตร์การแพทย์เฉพาะทางอย่างด้าน 'จิตเวชศาสตร์' (Psychiatry) ที่มีหลักคิดว่า การที่คนเรามีความเจ็บป่วยที่ปรากฏเป็นอาการทางจิตใจ อย่างเช่น การจมกับความเศร้าหดหู่ยาวนานเกินปกติ การมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง การมีภาวะหวาดวิตกหรือการมีอารมณ์พุ่งพล่านจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ การได้ยินเสียงแว่วหรือเห็นภาพหลอนที่ไม่มีอยู่จริง เหล่านี้น่าจะมีสาเหตุมาจากระบบทางชีวภาพ อย่างเช่น สมอง สารสื่อประสาท ระบบประสาท หรือฮอร์โมนมีการทำงานผิดปกติ มีความแปรปรวนไม่คงที่ ซึ่งหากได้มีการใช้ยาเพื่อทำงานกับจุดที่มีปัญหานั้นโดยตรง ก็น่าจะทำให้ความผันผวนผิดปกตินั้นหายไป แล้วกลับมาสู่สภาวะปกติ มีสุขภาพที่ดีได้อีกครั้ง

จะเห็นได้ว่าพื้นฐานทางองค์ความรู้ของนักจิตวิทยาการปรึกษากับจิตแพทย์มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน นักจิตวิทยาจะคลุกคลีกับเรื่องจิตใจค่อนข้างมาก ในขณะที่จิตแพทย์จะคลุกคลีกับเรื่องทางร่างกายค่อนข้างมาก แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่านักจิตวิทยาจะละเลยเรื่องทางร่างกาย และไม่ได้หมายความว่าจิตแพทย์จะละเลยเรื่องของจิตใจ เพราะปัญหาของผู้คนนั้นมีความหลากหลาย บางคนมีปัญหาโดยเรื่องทางจิตใจเป็นตัวตั้งต้น บางคนมีปัญหาเพราะมีระบบการทำงานที่ผิดปกติในร่างกายเป็นตัวตั้งต้น และอาจมีใครหลายคนที่มีปัญหาเพราะมีปัญหาทางใจและปัญหาทางกายประกอบกันทำให้ปัญหามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้นนักจิตวิทยาการปรึกษาและจิตแพทย์สามารถทำงานร่วมกันได้ตามขอบเขตความชำนาญของตน เพื่อส่งเสริมให้ผู้รับบริการได้ฟื้นฟูและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง

ในการปฏิบัติงาน นักจิตวิทยาการปรึกษาอาจเริ่มต้นด้วยการเน้นดูปัจจัยทางด้านจิตใจก่อน โดยจะมีการประเมินควบคู่ไปด้วยว่าผู้มาปรึกษามีปัญหาจากร่างกายที่อาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าไม่พบว่ามีปัญหาทางกายร่วมด้วย กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาก็ถือว่าเพียงพอที่จะทำให้ผู้มาปรึกษาได้แก้ไขปัญหาและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่ถ้ามีข้อสังเกตที่น่าจะเกี่ยวข้องกับปัญหาทางกาย นักจิตวิทยาก็จะแนะนำให้ผู้มาปรึกษาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการประเมินและพิจารณาเรื่องการรักษาโดยการใช้ยาควบคู่กันไปด้วย

ในขณะที่จิตแพทย์อาจเริ่มต้นด้วยการเน้นดูปัจจัยทางด้านร่างกายก่อน โดยอาจมีการซักถามอาการเพื่อประเมินว่าอาการที่ปรากฏนั้นบ่งชี้ว่าเป็นโรคทางจิตเวชและควรใช้ยาเพื่อรักษาหรือไม่ มีการถามถึงประวัติครอบครัวเพื่อเช็คว่าเป็นการส่งตต่อทางพันธุกรรมหรือไม่ และอาจถามถึงเรื่องราวและการใช้ชีวิตเพื่อดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากประเด็นทางจิตใจหรือไม่ หากพบว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ หากจิตแพทย์ท่านนั้นได้ผ่านการฝึกฝน มีประสบการณ์ และมีเวลาเพียงพอที่จะจัดกระบวนการปรึกษาหรือจิตบำบัดให้ได้ก็อาจให้บริการด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากไม่มีความชำนาญหรือไม่ได้มีเวลาเพียงพอที่จะให้บริการ ก็อาจส่งต่อให้นักจิตวิทยาได้รับไปดูแลในส่วนนี้ต่อไป

จากที่ผมนำเสนอข้างต้น น่าจะพอทำให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพว่านักจิตวิทยาการปรึกษาและจิตแพทย์มีเนื้องานต่างกันอย่างไรและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไรบ้าง หวังว่าท่านผู้อ่านที่กำลังมองหาความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตสุขภาพใจจะสามารถเลือกเข้าหาผู้ปฏิบัติงานที่ตอบโจทย์ปัญหาของเราได้ครับ

bottom of page