top of page
บทความ > สังเกตอย่างไรว่า 'นักจิตวิทยา หรือ 'จิตแพทย์' คนนี้จะช่วยเราได้

ภาพโดย : Andrew Martin จาก Pixabay

เขียนโดย : ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์
June 26, 2019

สังเกตอย่างไรว่า 'นักจิตวิทยา' หรือ 'จิตแพทย์'

คนนี้จะช่วยเราได้

Highlights

  • แม้ว่านักจิตวิทยาการปรึกษา

  • นักจิตวิทยาการปรึกษา 

ความทุกข์เป็นของคู่กันกับชีวิตมนุษย์ทุกคน ในสมัยเก่าก่อนเมื่อคนมีความทุกข์ก็อาจไปพูดคุยกับพระหรือกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า แต่ในยุคสมัยปัจจุบันมีอาชีพที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อช่วยมนุษย์ให้รับมือกับความทุกข์โดยเฉพาะ อย่างเช่น นักจิตวิทยาการปรึกษา และจิตแพทย์

เคยมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งถามผมว่า  'เราจะรู้ได้อย่างไรว่านักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์คนนี้เก่ง และเขาจะช่วยเราได้จริงๆ'   คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เพราะคำว่านักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เป็นเพียงคำเรียกสาขาอาชีพ วุฒิการศึกษา และบทบาทหน้าที่โดยมาตรฐานของผู้ปฏิบัติงานคนนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าในหน้างานจริงผู้ปฏิบัติงานทุกคนจะให้บริการได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกันทั้งหมด เพราะมีปัจจัยมากมายทั้งที่มาจากตัวผู้ให้บริการ ตัวผู้มาปรึกษา และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการปรึกษาในครั้งนั้นๆ

 

โดยพื้นฐานแล้วในกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด การได้พูดถึงรายละเอียด ความคิด ความรู้สึก ความเป็นมา ไม่ว่าจะซับซ้อนแค่ไหน เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ต้องให้เวลา และต้องมีในกระบวนการปรึกษา เพราะการสัมภาษณ์เชิงจิตวิทยาที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ตัวนักจิตวิทยาและจิตแพทย์เองเข้าใจโครงสร้างของปัญหาได้อย่างถูกต้อง สามารถแยกแยะได้ว่าปัญหาที่ปรากฏอยู่เกิดขึ้นจากปัญหาทางจิตใจหรือเกิดขึ้นจากปัญหาทางกาย อันนำไปสู่การจัดแนวทางการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ผลลัพธ์ที่ได้คือตัวเราที่เป็นผู้มาปรึกษาก็จะได้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้และสามารถแก้ไขปัญหาได้ การที่เราได้ทบทวนและทำความเข้าใจปัญหาอย่างละเอียด เราก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างดีในระยะยาว

ในกรณีที่เป็นปัญหาที่มีน้ำหนักอยู่ในเรื่องจิตใจเป็นหลัก วิธีการรักษาใจที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็ควรมีพื้นฐานอยู่บนการพูดคุยเพื่อเข้าใจปัญหาและเข้าใจตัวเองเป็นหลัก เพื่อให้ผู้มาปรึกษาได้เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองและได้ฝึกฝนที่จะดำเนินชีวิตด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง โดยมีการใช้ยาประกอบเฉพาะในกรณีที่จำเป็น ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อประคองอาการให้ดีขึ้น ให้เรารับมือกับปัญหาได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากใช้เราใช้ยาในการแก้ไขปัญหาเพียงอย่างเดียว สิ่งที่มักพบ คือ ยาทำได้เพียงช่วยประคองความรู้สึก หรือไม่ทำให้อาการทรุดลงไป แต่ไม่ได้ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิต วิธีการคิดหรือการมองโลกเปลี่ยนไปจากเดิม จึงทำให้ปัญหาทุกอย่างยังคงอยู่

แต่ถ้าเป็นกรณีที่ปัญหามีน้ำหนักจากปัญหาทางกายเป็นหลัก (ไม่ว่าจะเพราะฮอร์โมน ระบบประสาท สารสื่อประสาทในสมอง) การใช้ยาทางจิตเวชก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งจะทำให้อาการต่างๆ ทุเลาลงและหายไปได้จริง

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตว่าผู้ปฏิบัติงานท่านนั้นน่าจะสามารถช่วยเราได้จริงๆ ผมขอยกหลักการสังเกตเบื้องต้นไว้ให้ดังนี้ครับ

วิธีการสังเกตว่าผู้ช่วยเหลือทางจิตใจ (ทั้งนักจิตวิทยาและจิตแพทย์) ท่านนี้น่าจะสามารถช่วยเหลือเราได้

 

สิ่งที่เราสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ได้เป็นอย่างแรก คือ วุฒิการศึกษาและประสบการณ์ การที่ผู้ให้บริการท่านนั้นมีวุฒิการศึกษาและประสบการณ์การทำงานที่ตรงกับปัญหาของเรา จะเป็นสิ่งแรกที่พอจะช่วยให้เรามั่นใจในเบื้องต้นว่าเขามีความรู้ในการปฏิบัติงานด้านนี้จริง แต่นั่นก็เพียงพื้นฐานเท่านั้น

 

 การสังเกตถึงประสบการณ์ที่เราได้สัมผัสโดยตรงในขณะที่รับบริการ ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาได้ ซึ่งสิ่งที่เราพึงสังเกตจากการพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์คือ

   1. เขาดูมีท่าทีที่จะรับฟังเราอย่างเต็มใจ และพยายามจะเข้าใจเรา

   2. เขาสามารถแสดงความเข้าใจเราได้ตรงตามจริง ทั้งการคิด การรู้สึก

   3. เขาสามารถทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ได้มากขึ้น ชัดเจนขึ้น เห็นในสิ่งที่เรามองไม่เห็น หรือมองข้ามไป   

   4. เขาทำให้เรารู้สึกสบายใจและปลอดภัยที่จะพูดคุยด้วย

   5. เขาทำให้เรารู้สึกมีความหวังว่าอะไรๆ จะดีขึ้นหลังจากที่ได้คุยกันไปสักพัก

   6. เขาทำให้เรารู้สึกว่าความหวังนั้นไม่ใช่ลมๆ แล้งๆ แต่เรามีความมั่นใจว่าเราสามารถไปถึงจุดนั้นได้จริง

   7. เรารู้สึกได้ว่า treatment ที่เขาจัดให้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การทำกิจกรรม การทดลองใช้ชีวิตแบบใหม่ (หรือการใช้ยาในกรณีพบจิตแพทย์) ใดๆ ก็ตามทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

 

Unfinnished

การมาพบนักจิตวิทยาโดยปกติแล้วจะมีแต่การพูดคุยเป็นหลักเท่านั้นโดยไม่มีการใช้ยา แต่หากเป็นกรณีที่เราไม่ได้ไปพบนักจิตวิทยาแล้วไปพบจิตแพทย์ล่ะ 


   - เป็นจิตแพทย์ให้พื้นที่พูดคุยกับคนไข้ประมาณหนึ่ง แล้วสามารถ "แสดงความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง จับประเด็น สะท้อนปัญหาได้ตรงจุด พร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนชีวิตในทางที่ดีขึ้นได้อย่างตรงจุด และรู้สึกว่าทำได้จริง"
    - เป็นจิตแพทย์ที่ "ไม่ด่วนวินิจฉัย ไม่ด่วนจ่ายยา" เพราะตระหนักว่าการมีชื่อโรคและการใช้ยา ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุสำหรับปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ประเมินวินิจฉัยด้วยความระมัดระวัง จ่ายยาเท่าที่จำเป็นกับเคสที่จำเป็น ในระยะเวลาเท่าที่จำเป็น
    - เป็นจิตแพทย์ที่หากตัวเองไม่มีเวลามากในการพูดคุย หรือไม่สันทัดที่จะคุย ก็จะ "พยายามหาช่องทางส่งต่อให้คุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาหรือนักจิตวิทยาคลินิก" เพื่อให้คนไข้มีโอกาสได้พูดคุยทำความเข้าใจตัวเอง เข้าใจปัญหา


   

    แม้ว่าการพูดคุยจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีโอกาสได้คุยแบบนั้นกับจิตแพทย์ (หรือนักจิตวิทยา) ทุกคนนะครับ เพราะอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การบริการ ในระดับอุดมคติ ที่เราต้องการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น
    - จำนวนคนไข้หรือคนที่มาปรึกษาที่เยอะมากเกินไปจนเกินรับมือของจิตแพทย์ (แต่ต้องรีบปิดงานให้เสร็จ)
    - ความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจของจิตแพทย์ (หรือนักจิตวิทยา) ที่อาจไม่อยู่ในจุดที่พร้อมเพียงพอจะให้บริการ เช่น ความเหนื่อยล้าทั้งกาย-ใจ ปัญหาทางสุขภาพ
    - ดุลพินิจการวางแนวทางการรักษาต่อประเด็นปัญหาของคนไข้ (ว่าควรจัดยาอย่างเดียว หรือจัดให้มีการพูดคุย หรือมีกิจกรรมอื่นร่วมด้วย)

    ซึ่งจิตแพทย์ (หรือนักจิตวิทยา) ที่อาจไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะช่วยเหลือให้ผู้มารับการรักษาดีขึ้น จากคำบอกเล่าของผู้มาปรึกษาที่ผมรวบรวมมาจะเป็นประมาณว่า
    1.ถาม 2-3 คำถามแล้ววินิจฉัยทันทีว่าเป็นโรคทางจิตเวช พร้อมจ่ายยาแล้วให้กลับบ้าน (ยังไม่ทันรู้รายละเอียดเชิงลึก ก็จัดชื่อโรคให้เสียแล้ว)
    2.ฟังสั้นๆ แล้วแนะนำว่าเป็นเพราะคุณเครียดเกินไป เพราะฉะนั้นอย่าเครียดมากนะ จ่ายยาคลายเครียด ยานอนหลับ แล้วให้กลับบ้าน (ยังไม่ทันเข้าใจความเครียดนั้นดี ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงไม่ให้เครียดก็ต้องกลับบ้านเสียแล้ว)
    3.พูดหรือทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนไข้รู้สึกแย่ลงกว่าเดิมหรือรู้สึกอึดอัด (โดยที่หมอคิดว่าที่ทำอยู่นั้นดีแล้ว)
    4.รักษาด้วยการใช้ยาเป็นหลัก โดยไม่มีพื้นที่ในการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาอย่างชัดเจน (แบบนี้มักจะวนอยู่กับปัญหาเดิมเป็นปีๆ ไม่เคลื่อนไปไหน)
    หรือ อย่างที่ 5. คือ เข้ากันไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยสไตล์ อุปนิสัย วิธีการพูดคุย หรือช่วงอายุที่แตกต่างกันเกินไป คุยกันไม่เข้าใจ ก็ทำให้การรักษาใจขาดประสิทธิภาพได้

    แหล่งบริการและบุคลากรทางสุขภาพจิตในประเทศไทยถือว่ายังมีจำนวนน้อยและขาดแคลนมาก ตัวเลือกอาจมีไม่มากนัก แต่ถึงกระนั้น การเลือกแหล่งรักษาใจที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณา เพราะยิ่งเรารักษาใจตัวเองได้เร็วและมีคุณภาพมากเท่าไร เราก็ยิ่งกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุขได้เร็วขึ้นเท่านั้น

ลองใช้หลักเกณฑ์ที่ผมนำเสนอข้างต้นในการเลือกแหล่งช่วยเหลือทางจิตใจที่พร้อมที่สุดสำหรับเรานะครับ :)


 

bottom of page